ปลัด สธ.เผย คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น ปี 56 ยอดตายกว่า 50,000 คน เฉลี่ย 6 คน ในทุก 1 ชั่วโมง เหตุการป่วยเกือบ 100% เป็นผลมาจากโรคที่เกิดจากวิถีชีวิต ชี้ 4 โรค เป็นตัวเร่งสำคัญ “เบาหวาน-ความดัน-ไขมันในเลือด-ความอ้วน”
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันที่ 29 กันยายนทุกปี สมาพันธ์หัวใจโลก กำหนดให้เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) เพื่อให้ทุกประเทศรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน ตระหนักและเร่งป้องกันปัญหาโรคหัวใจ เนื่องจากเป็นสาเหตุการป่วยและการเสียชีวิตของประชากรก่อนวัยอันควร มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก
โดยองค์การอนามัยโลกรายงานปีละประมาณ 17 ล้านคน หากไม่เร่งป้องกันแก้ไข คาดว่าในปี 2573 หรือในอีก 16 ปี จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มเป็น 23 ล้านคน โดยในปีนี้ได้กำหนดคำขวัญการรณรงค์ ว่า “ประสานด้วยใจ เดินหน้าไปกับโลกสากล เพื่อยังผลให้ หัวใจแข็งแรง” (Join the global movement for better heart-healthy choices… wherever you live,work and play#heart choices) เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวในหลายภาคส่วนทั่วโลก ก้าวสู่การเป็นสากล เพื่อให้ประชาชนในประเทศ มีทางเลือกที่ดีขึ้น ในการดูแลสุขภาพหัวใจ ในทุกๆ สถานที่ ทั้งในที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า หัวใจเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมง ทำหน้าที่ในการส่งเลือดผ่านไปทางหลอดเลือด เพื่อไปเลี้ยงอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย รวมทั้งเลี้ยงที่หัวใจด้วย หากมีหลอดเลือดใดหลอดเลือดหนึ่ง มีปัญหาเชื่อมโยงกัน คือ อวัยวะปลายทางขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง และหัวใจทำงานหนักขึ้น เกิดปัญหาหัวใจวาย และเสียชีวิต ส่วนใหญ่การป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ มักเป็นอย่างฉุกเฉิน ไม่รู้ตัวมาก่อน สำหรับสถานการณ์โรคหัวใจของประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใน พ.ศ. 2556 มีผู้เสียชีวิต 54,530 คน เฉลี่ยวันละ 150 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน อัตราการป่วยต่อประชากรทุก 1 แสนคน ในปี 2555 เท่ากับ 427 คน เพิ่มจากปี 2547 ซึ่งมีอัตราการป่วยเท่ากับ 185 คน
ท้ังนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งแก้ไขปัญหาเน้นให้ทุกจังหวัด รณรงค์ปรับพฤติกรรมสุขภาพประชาชน ป้องกันการป่วย และจัดบริการรักษาพยาบาลผู้ที่ป่วยแล้ว โดยให้ทุกเขตสุขภาพตั้งศูนย์เชี่ยวชาญโรคหัวใจ สามารถให้การรักษา ทั้งด้วยยา การผ่าตัด และขยายการให้ยาละลายลิ่มเลือดถึงโรงพยาบาลระดับอำเภอ เพื่อให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือขั้นต้นได้อย่างทันท่วงที ก่อนนำส่งรักษาต่อยังโรงพยาบาลใหญ่ เป็นการลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย และมีบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยประชาชนทุกพื้นที่ สามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลงานการศึกษาวิจัยทั่วโลก ยืนยันตรงกันว่า สาเหตุการป่วยโรคหัวใจในขณะนี้ เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และเป็นผลมาจากโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง และมี 4 โรค เป็นตัวเร่งสำคัญ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และความอ้วน ซึ่งล้วนเป็นโรคที่มีผลต่อหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว หรือหลอดเลือดตีบตันแคบ โดยพฤติกรรมที่จัดว่าเสี่ยงที่จะก่อโรค 4 โรค ได้ง่ายๆ ได้แก่ การรับประทานที่มากเกินพอดี ไม่สมดุล รับประทานอาหารรสหวาน มัน เค็ม รับประทานผักผลไม้น้อย ใช้เครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น ไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ในกลุ่มผู้ที่ป่วยจาก 4 โรค ซึ่งคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งการกินยาควบคุมอาการ การลดกินอาหารหวานจัด อาหารรสมัน หรือเค็ม งดดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัด เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจ รวมทั้งโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือแตก โรคไตวาย ส่วนประชาชนที่ยังมีสุขภาพปกติ ขอให้เน้นการป้องกัน สามารถเริ่มปฏิบัติตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไปจนถึงสูงอายุ คือ 1.ออกกำลังกายทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที ซึ่งจะมีผลดี จะช่วยควบคุมน้ำหนัก สลายไขมันส่วนเกิน และสลายความเครียด ทำให้อารมณ์ดี นอนหลับสนิท 2.ชั่งน้ำหนักตัวทุกวันตอนเช้าก่อนรับประทานอาหาร เพื่อประเมินน้ำหนักตัวเอง 3.รับประทาน อาหารที่มีน้ำตาล เกลือ ไขมันต่ำ เพิ่มการกินผัก ผลไม้ให้ได้วันละครึ่งกิโลกรัม หรือให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารแต่ละมื้อ ตามสูตรผักครึ่งหนึ่ง อาหารครึ่งหนึ่ง 4.งดและลดการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และ 5.ตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองหาความผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกาย หากประชาชนทุกคนปฏิบัติตามคำแนะนำได้ ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ความอ้วน และโรคหัวใจ จะน้อยลง หรือแทบไม่มีเลย
ทั้งนี้ สัญญาณของอาการโรคหัวใจ ได้แก่ 1.เหนื่อย แน่นและเจ็บหน้าอก ซึ่งเป็นอาการที่พบได้มากที่สุด 2.นั่งพักแล้ว อาการที่กล่าวมายังไม่ดีขึ้น และเป็นมากขึ้น 3.กรณีในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจแล้ว ใช้ยาอมใต้ลิ้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น และ 4.มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หมายเลข 1422
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์